ราชอาณาจักรไทย

ราชอาณาจักรไทย

 

ราชอาณาจักรไทย

 

ชื่อทางการ : ราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand)
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้ติดอ่าวไทยและประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดกับประเทศพม่าและประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง

พื้นที่ : 513,115.02 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง : กรุงเทพมหานคร (Bangkok)
ประชากร : 64.7 ล้านคน (2551)
ภูมิอากาศ : เป็นแบบเขตร้อน อากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมเป็นฤดูร้อน โดยจะมีฝนตกและเมฆมากจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมเป็นฤดูฝน ส่วนในเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคม อากาศแห้งและหนาวเย็นจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นฤดูหนาว ยกเว้นภาคใต้ที่มีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปีจึงมีแค่สองฤดูคือฤดูร้อนกับฤดูฝน
ภาษา : ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
ศาสนา : ประมาณร้อยละ 95 ของประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติโดยพฤตินัย แม้ว่ายังจะไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ตาม ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 4 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทางภาคใต้ตอนล่าง ศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นประมาณร้อยละ 1
สกุลเงิน : บาท (Baht : THB)
ระบอบการปกครอง : ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดอกไม้ประจำชาติไทยคือ ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruekมีสีเหลืองสวยงาม เมื่อเบ่งบานแล้วจะให้ความรู้สึกที่อบอุ่น ราชพฤกษ์ยังเป็นไม้มงคล  ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมีเกียรติยศศักดิ์ศรี ซึ่งชาวไทยหลายคนรู้จักกันดีในนามของ ดอกคูน โดยมีความเชื่อว่าสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์คือสีแห่งพระพุทธศาสนา และความรุ่งโรจน์ รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีปรองดองของคนในชาติอีกด้วย โดยดอกราชพฤกษ์จะเบ่งบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม มีจุดเด่นเวลาเบ่งบานคือการผลัดใบออกจนหมดต้น เหลือไว้เพียงแค่ดอกสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์เท่านั้น
 
ดอกราชพฤกษ์
 
 
ชุดประจำชาติของประเทศไทย :  สำหรับชุดประจำชาติอย่างเป็นทางการของไทย รู้จักกันในนามว่า "ชุดไทยพระราชนิยม" โดยชุดประจำชาติสำหรับสุภาพบุรุษ จะเรียกว่า "เสื้อพระราชทาน"

          สำหรับสุภาพสตรีจะเป็นชุดไทยที่ประกอบด้วยสไบเฉียง ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ซิ่นมีจีบยกข้างหน้า มีชายพกใช้เข็มขัดไทยคาด ส่วนท่อนบนเป็นสไบ จะเย็บให้ติดกับซิ่นเป็นท่อนเดียวกันหรือ จะมีผ้าสไบห่มต่างหากก็ได้ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายด้านหลังยาวตามที่เห็นสมควร ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าการเย็บและรูปทรงของผู้ที่สวม ใช้เครื่องประดับได้งดงามสมโอกาสในเวลาค่ำคืน

โดยชุดไทยพระราชนิยม แบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้

1. ชุดไทยเรือนต้น

2. ชุดไทยจิตรลดา

3. ชุดไทยอมรินทร์

4. ชุดไทยบรมพิมาน

5. ชุดไทยจักรี

6. ชุดไทยจักรพรรดิ

7. ชุดไทยดุสิต

8. ชุดไทยศิวาลัย
 
 

ธงชาติไทย : หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และน้ำเงิน ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย[1] (ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2460เพื่อแก้ไขปัญหาการชักธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4) กลับด้าน และเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร[2]