ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)

 

 

 

ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)

ก่อนจะมาเป็นประชาคมอาเซียน

                ยังมีคนอีกมากที่ไม่ทราบว่าประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของในชีวิตของเรานั้น  ประเทศไทยเป็นประเทศที่คิดริเริ่มในการจัดตั้งสมาคมอาเซียน  โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในขณะนั้น (2510) คือ น.อ. (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ ตรงกับสมัยรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะนำผู้นำจากประเทศสมาชิกอีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์,  อินโดนีเซีย และสิงค์โปร์  เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดตั้งสมาคมอาเซียนขึ้น  โดยใช้สถานที่บ้านพักตากอากาศที่แหลมแท่น ต. บางแสน อ. เมือง จ. ชลบุรี เป็นที่ดำเนินการประชุม เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2510 และมีได้การจัดทำเอกสารข้อตกลงร่วมกัน เรียกว่า “Spirit of Bangsaen” หรือ จิตวิญญาณแห่งบางแสน  ต่อมาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ได้มีการลงนามในปฏิญญาก่อตั้งอาเซียน ซึ่งเรียกว่า “ปฏิญญากรุงเทพ” (Bangkok Declaration)  หรือปฎิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration)

อาเซียน (ASEAN) เกิด เวลา 10:50 น.   เช้าวันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 / ค.ศ. 1967    ที่กระทรวงการต่างประเทศ วังสราญรมย์  กรุงเทพมหานคร  ราชอาณาจักรไทย

                ผู้ตั้งชื่อสมาคมนี้ว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซี่ยน (ASEAN มาจากคำเต็มว่า Association of Southeast Asain Nations) ก็คือ นายอาคัม มาลิค รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เหตุผลการจัดตั้งสมาคมอาเซียน ในสมัยนั้นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขาดความสมัครสมานสามัคคีกัน กล่าวคือมาเลเซียกับฟิลิปปินส์มีความหวาดระแวงกันในเรื่องของพรมแดนที่เป็นเกาะและกรรมสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อน อินโดนีเซียก็ยังระส่ำระสายในเรื่องการเมืองภายใน ส่วนสิงคโปร์ก็เป็นเกาะเล็กๆ ที่รู้สึกไม่มั่นใจในการล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ สำหรับไทยเองก็ไม่มั่นใจจากภัยการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ลามมาจากประเทศเวียตนาม เขมร และลาว

ASEAN Community คืออะไร

                อาเซียน (ASEAN) ประกอบด้วย 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย (2510) สิงคโปร์ (2510) อินโดเนเซีย (2510) มาเลเซีย (2510) ฟิลิปปินส์ (2510) บรูไน (2527) เวียตนาม (2538)  ลาว (2540) พม่า (2540)  กัพูชา (2542) มีประชากรรวมกันประมาณ 570 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจที่โตมาก เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี 2 เห็นชอบให้จัดตั้ง ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือการให้อาเซียนรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เนื่องจากการแข่งขันรุนแรง เช่น อัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของจีนและอินเดียสูงมากในช่วงที่ผ่านมา  ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ชะอำ หัวหิน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 ผู้นำอาเซียนได้ลงนามรับรองปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ค.ศ. 2009-2015) เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558

ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยเสาหลัก 3 เสา

          1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  (ASEAN Security Community – ASC) มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้ง ระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง

          2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน โดย

                (ก) มุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของ สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี 2020

                (ข) ทําให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (single market and production base)

                (ค) ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและช่วยให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน

                (ง) ส่งเสริมความร่วมมือในนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาคตลาดการเงินและตลาดทุน การปะกันภัยและภาษีอากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม พัฒนาความร่วมมือด้านกฎหมาย การเกษตร พลังงาน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน

                กลุ่มสินค้าและบริการนำร่องที่สำคัญ ที่จะเกิดการรวมกลุ่มกัน คือ สินค้าเกษตร / สินค้าประมง / ผลิตภัณฑ์ไม้ / ผลิตภัณฑ์ยาง / สิ่งทอ / ยานยนต์ /อิเล็กทรอนิกส์ / เทคโนโลยีสารสนเทศ (e-ASEAN) / การบริการด้านสุขภาพ, ท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศ (การบิน) กำหนดให้ปี พ.ศ. 2558 เป็นปีที่เริ่มรวมตัวกันอย่างเป็นทางการ โดยผ่อนปรนให้กับประเทศ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียตนาม ประเทศไทยได้รับมอบหมายให้ทำ Roadmap ทางด้านท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศ (การบิน)

         3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC) เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม

 

              ภาพประวัติศาสตร์ประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านมาแล้ว 46 ปี (1967-2013) คือภาพที่ ฯพณฯ นาซิโซ รามอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์;
          ฯพณฯอาดัม มาลิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย; ฯพณฯ พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย; ตุน อับดุล ราซัค บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย; และฯพณฯ เอส ราชา รัตนัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ร่วมลงนามใน“ปฏิญญาอาเซียน” หรือ “ASEAN Declaration” ที่กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อเต็มว่า Association of Southeast Asian Nations เรียกย่อว่า ASEAN (อาเซียน)

 
“ปฏิญญา ASEAN” ลงนามกันที่กรุงเทพ จึงเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า Bangkok Declaration หรือ “ปฏิญญากรุงเทพ” ห้าประเทศผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียนคำนึงว่าทุกประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน มีปัญหาร่วมกันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อมั่นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสามัคคีภาพระหว่างกันให้มั่นคงแนบแน่นต่อไป ทั้งห้าประเทศปรารถนาที่จะวางรากฐานเพื่อการทำงาน ร่วมกันสร้างสรรค์ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมโนสำนึกแห่งความเป็นประเทศที่เท่าเทียมเสมอภาคกัน เป็นมิตรร่วมสมาคมกัน ร่วมเดินทางไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่พร้อมกัน คือ

สันติภาพ ความก้าวหน้า ความมั่งคั่ง และความเจริญรุ่งเรืองอันยั่งยืน
 
ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนทั้งห้ารำลึกว่าโลกเรานั้นต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน อุดมคติเรื่องสันติภาพ เสรีภาพ ความเป็นธรรมในสังคม และ ความสมบูรณ์พูนสุขทางเศรษฐกิจนั้น จะบรรลุผลอย่างดีที่สุดได้ก็ด้วยการสร้างเสริมความเข้าใจระหว่างกัน การเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน มีความร่วมมือกันอย่าง มีคุณประโยชน์ในหมู่มิตรประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งมิตรประเทศร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรานั้นมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นความเชื่อมโยงต่อกันมาเนิ่นนานแต่บุราณกาลแล้ว
อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ ไทย ได้พิจารณาว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสวนแบ่งในการรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างสันติ ให้ภูมิภาคมีความปลอดภัยจากการแทรกแซงที่อาจมาจากภายนอกภูมิภาคไม่ว่าจะในรูปแบบใด ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องเอกลักษณ์แห่งชาติตามอุดมการณ์และจิตวิญญาณแห่งประชาชาติของแต่ละประเทศ
ประเทศผู้ให้กำเนิดอาเซียนทั้งห้ายืนยันอย่างหนักแน่นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ว่า บรรดาฐานทัพของต่างชาติที่คงอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานั้น ถือเป็นการอยู่อย่างชั่วคราว และอยู่ด้วยความเห็นชอบจากประเทศเจ้าภาพ และจะมิได้อยู่เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการแทรกแซงเอกราช และเสรีภาพของรัฐในภูมิภาค ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม จะไม่เป็นการขัดขวางกระบวนการหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศที่เป็นไปอย่างเป็นระบบระเบียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN จึงถือกำเนิดขึ้นจากการลงนามในคำปฏิญญาที่กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 หรือ ค.ศ. 1967 พันเอกพิเศษ ดร. ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในสมัยนั้น คือบุคคลสำคัญที่เริ่มความคิดก่อตั้งสมาคมอาเซียน ท่านคิดถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันจะต้องรวมตัวกัน ร่วมมือกันเป็นสมาคมประชาชาติที่ร่วมกันพัฒนา สร้างสานผลประโยชน์ และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง ท่ามกลางบรรยากาศแห่งสันติสุข และความสงบร่มเย็นร่วมกัน 

 
ความคิดแรกเริ่มมาจาก ดร.ถนัด คอมันตร์ประเทศต้นความคิด คือ ราชอาณาจักรไทย

 
  • อาเซียนเกิดขึ้นมาเพื่อความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อเร่งความเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และเพื่อพัฒนาการทางวัฒนธรรม อาเซียนมีเป้าหมายในการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง เคารพในความยุติธรรม ยึดถือกฎหมายเป็นแบบแผนแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกัน และยึดมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติ
 
  • อาเซียนต้องการสร้างความร่วมมือช่วยเหลือต่อกันและกันในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม  เทคนิค  วิทยาศาสตร์ และการบริหารงานด้านต่างๆ ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความช่วยเหลือกันในเรื่องหลากหลาย การศึกษา วิจัย ฝึกอบรมวิชาชีพและเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเกษตร การค้า และอุตสาหกรรม รวมทั้งการคมนาคม สื่อสาร เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองอาเซียนทั้งหมด ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยให้มากขึ้นเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาค และในโลก
กาลเวลาผ่านไป ความสำเร็จของอาเซียนปรากฏต่อประชาคมโลก มิตรประเทศในภูมิภาคเดียวกันเริ่มให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมสมาคมด้วย หลังจากภาวะการเมืองโลกผันแปรไปในทางสร้างสรรค์ความสามัคคีและความร่วมมือระหว่างประเทศโดยปราศจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองอาเซียนจึงได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ประเทศที่ 6 คือ บรูไน ดารุสซาลาม ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) หลังจากอาเซียนเกิดได้ 17 ปี สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน ลำดับที่ 7 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) สมาชิกประเทศที่ 8 และ 9 คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหภาพพม่า (ปัจจุบันเรียกชื่อประเทศว่า “สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า”) เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน วันเดียวกัน คือวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)ราชอาณาจักรกัมพูชาที่เพิ่งเข้าสู่ภาวะแห่งความสงบในบ้านเมือง ก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศท้ายสุด ลำดับที่ 10 ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999)

  • รัฐสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ “อาเซียน” ทั้ง 10 ประเทศมีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์เป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มประเทศที่อยู่บนภาคพื้นทวีป คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม กับกลุ่มที่ตั้งอยู่บนภาคพื้นมหาสมุทร คือมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และ ฟิลิปปินส์
  • อาเซียนมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ มีภาษาและการนับถือศาสนาที่ต่างกัน ทั้งศาสนาอิสลาม ฮินดู พุทธ และ ศาสนาคริสต์หลายนิกาย แต่อาเซียนก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และสื่อสารกันโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของอาเซียน

ประโยชน์ที่ไทยได้รับคืออะไร

                1. ประชากรเพิ่มเป็น 600 ล้านคนโดยประมาณ ทำให้เพิ่มศักยภาพในการบริโภค เพิ่มอำนาจการต่อรองในระดับโลก

                2. Economy Scale ยิ่งผลิตมาก ยิ่งต้นทุนต่ำ

                3. มีแรงดึงดูดเงินลงทุนที่อยู่นอกอาเซียนสูงขึ้น

                4. สิบเสียงย่อมดังกว่าเสียงเดียว

 

ผลกระทบมีอะไรบ้าง?

                1. การศึกษาในภาพใหญ่ของโลก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ต้องไม่ให้การเปลี่ยนแปลงนี้มากระชากลากเราไปอย่างทุลักทุเล เราต้องเตรียมความพร้อมทันที ตลอดเวลา โดยเฉพาะบุคลากรต้องตามให้ทันและยืดหยุ่นปรับตัวให้รับสถานการณ์ได้

                2. ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางของ ASEAN บุคลากรและนักศึกษา ต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ให้สามารถสื่อสารได้

                3. ปรับปรุงความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ เพื่อลดข้อขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียน (Conflict Management) จึงต้องคำนึงถึงการสร้างบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง ASEAN ให้มากขึ้น

                4. สร้างบัณฑิตให้สามารถแข่งขันได้ใน ASEAN เพิ่มโอกาสในการทำงาน ไม่เช่นนั้น จะถูกแย่งงานเพราะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน/บริการอย่างเสรี คณะกรรมการวิชาชีพ สภาวิชาชีพ ต้องเตรียมการรองรับผลกระทบนี้อย่างเร่งด่วน

                5. โอกาสในการเป็น Education Hub โดยอาศัยความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศไทย แต่ต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพการศึกษาเป็นตัวนำ

                6. เราต้องการเครื่องมือในการ Transform คน การเรียนแบบ PBL หรือ Project Based Learning น่าจะได้มีการวิจัยอย่างจริงจังและนำมาปรับใช้  ห้องเรียนไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆอีกต่อไป ต้องเพิ่มการเรียนจากชีวิตจริง ลงมือทำเป็นทีม อยู่คนละประเทศก็ทำร่วมกันได้ด้วยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ประเด็นนี้ อาจารย์จะสอนได้ยากขึ้น แต่เป็นผู้ที่ช่วยให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ แสดงว่า อาจารย์ต้องมีความพร้อมมากกว่าเดิมและเก่งจริงๆ  (MRAs) การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 9 เมื่อ 7 ตุลาคม 2546 ที่บาหลี อินโดนีเซีย ได้กำหนดจัดทำข้อตกลงร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements : MRAs)เกี่ยวกับคุณสมบัติของวิชาชีพหลัก แรงงานเชี่ยวชาญ หรือผู้มีความสามารถพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี โดยจะเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2558  ในเบื้องต้น ได้ทำข้อตกลงร่วมกันแล้ว 7 สาขา คือ
                1. วิศวกรรม (Engineering Services) 
                2. พยาบาล (Nursing Services) 
                3. สถาปัตยกรรม (Architectural Services) 
                4. การสำรวจ (Surveying Qualifications) 
                5. แพทย์ (Medical Practitioners) 
                6. ทันตแพทย์ (Dental Practitioners) 
                7. บัญชี (Accountancy Services)

 หลักการพื้นฐานของความร่วมมืออาเซียน

                ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้ยอมรับในการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน ในการดำเนินงานในเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างกัน อันปรากฏอยู่ในกฎบัตรอาเซียนซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของอาเซียน ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2551 และสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia หรือ TAC) ซึ่งประกอบด้วย

                - การเคารพซึ่งกันและกันในเอกราช อธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณาการแห่งดินแดนและเอกลักษณ์ประจำชาติของทุกชาติ
                – สิทธิของทุกรัฐในการดำรงอยู่โดยปราศจากจากการแทรกแซง การโค่นล้มอธิปไตยหรือการบีบบังคับจากภายนอก
                – หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน
                – ระงับความแตกต่างหรือข้อพิพาทโดยสันติวิธี
                – การไม่ใช้การขู่บังคับ หรือการใช้กำลัง
                – ความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างประเทศสมาชิก

                นอกจากหลักการข้างต้นแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงช่วงก่อนที่กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้    อาเซียนยึดถือหลักการฉันทามติเป็นพื้นฐานของกระบวนการตัดสินใจและกำหนดนโยบาย มาโดยตลอด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การที่อาเซียนจะตกลงกันดำเนินการใดๆ ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดประเทศ จะต้องเห็นชอบกับข้อตกลงนั้นๆ ก่อน การที่อาเซียนยึดมั่นในหลัก ‘ฉันทามติ” และ “การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน’ หรือที่ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเรียกว่า ‘วิถีทางของอาเซียน’ (ASEAN’s Way)ในทางหนึ่งนั้น ก็ถือเป็นผลดีเพราะเป็นปัจจัย ที่ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ในเรื่องระบบการเมือง วัฒนธรรมและฐานะทางเศรษฐกิจ มีความ “สะดวกใจ” ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก และดำเนินความร่วมมือในกรอบอาเซียน แต่ในอีกทางหนึ่ง “ฉันทามติและการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน”ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในหลายโอกาสว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระบวน การรวมตัวกันของอาเซียนเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงทำให้อาเซียนขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากถูกมองว่ากลไกที่มีอยู่ ของอาเซียน ล้มเหลว ในการจัดการกับปัญหา ของอาเซียนเองที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกใดประเทศสมาชิกหนึ่งได้ อย่างไรก็ดี การยึดถือฉันทามติในกระบวนการตัดสินใจ ของอาเซียน ได้เริ่มมี ความยืดหยุ่นมากขึ้นหลังจากที่กฎบัตรอาเซียน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551  เนื่องจาก กฎบัตรอาเซียนได้เปิดช่องให้ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน พิจารณาหาข้อยุติในเรื่องที่ประเทศสมาชิกไม่มีฉันทามติได้

สัญลักษณ์อาเซียน

รวงข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันบนพื้นสีแดง ล้อมรอบด้วยวงกลมสีแดง

รวงข้าว 10 ต้นมัดรวมกัน หมายถึง ประเทศสมาชิก 10 ประเทศ

รวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

สีเหลือง  หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

สีแดง     หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า

สีขาว     หมายถึง ความบริสุทธิ์

สีน้ำเงิน  หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง

 

บรรณานุกรม

ประชาคมอาเซียน  (2555) สืบค้นจาก http://www.lib.ru.ac.thวันที่ 16 ส.ค.. 2556

ASEAN DIARY (2555)  สืบค้นจากhttp://aec2013.blogspot.comวันที่ 16ส.ค. 2556