การวัดและประเมินผล

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

ผศ.ดร.ทิวัตถ์  มณีโชติ

 

           สาระเบื้องต้นเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่นความหมาย  ความสำคัญ  ประเภท  และลักษณะของการวัดและประเมินผลทางการศึกษา  มีดังนี้

การวัด (Measurement)

           ความหมาย

          ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ  การวัด  และ  การวัดผล  บางคนเข้าใจว่า 2 คำนี้เป็นคำเดียวกัน  มีความหมายเหมือนกัน เพราะมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือ measurement  แต่ในภาษาไทย  2 คำนี้มีความหมายแตกต่างกันเล็กน้อย  ดังนี้

          การวัด เป็นกระบวนการกำหนดตัวเลขหรือสัญลักษณ์แทนปริมาณหรือคุณภาพของคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการวัด  

         การวัดผล  เป็นกระบวนการกำหนดตัวเลขหรือสัญลักษณ์แทนปริมาณหรือคุณภาพของคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการวัด  โดยสิ่งที่ต้องการวัดนั้นเป็นผลมาจากการกระทำหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน  เช่น  การวัดผลการเรียนรู้  สิ่งที่วัดคือ ผลที่เกิดจากการเรียนรู้ของผู้เรียน 

         องค์ประกอบของการวัด

          องค์ประกอบของการวัดประกอบด้วย  สิ่งที่ต้องการวัด เครื่องมือวัด  และผลของการวัด  ที่สำคัญที่สุด คือ เครื่องมือวัด เครื่องมือที่มีคุณภาพจะให้ผลการวัดที่เที่ยงตรงและแม่นยำ 

          ประเภทของสิ่งที่ต้องการวัด

         สิ่งที่ต้องการวัดแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 

         1. สิ่งที่เป็นรูปธรรม คือ คน สัตว์ หรือสิ่งของ ที่จับต้องได้  มีรูปทรง  การวัดสิ่งที่เป็นรูปธรรมนี้เป็นการวัดทางกายภาพ (physical)  คุณลักษณะที่จะวัดสามารถกำหนดได้ชัดเจน เช่น น้ำหนัก ความสูง ความยาว เครื่องมือวัดคุณลักษณะเหล่านี้ให้ผลการวัดที่เที่ยงตรงและแม่นยำสูง วัดได้ครบถ้วน สมบูรณ์ และเอียดถี่ถ้วน ตัวอย่างเครื่องมือวัด เช่น  เครื่องชั่ง ไม้บรรทัด สายวัด เป็นต้น การวัดลักษณะนี้เป็นการวัดทางตรง  ตัวเลขที่ได้จากการวัดแทนปริมาณคุณลักษณะที่ต้องการวัดทั้งหมด  เช่น หนัก 10 กิโลกรัม  สูง 172 เซนติเมตร  ยาว  3.5 เมตร  ตัวเลข 10  172  และ 3.5  แทนน้ำหนัก ความสูง และความยาวทั้งหมด  เช่น 10 แทนน้ำหนักทั้งหมด  ถ้าไม่มีคุณลักษณะดังกล่าว เช่นหนัก 0 หน่วย  ก็คือ ไม่มีนำหนักเลย  ตัวเลข 0 นี้เป็นศูนย์แท้ (absolute zero)  

          2. สิ่งที่เป็นนามธรรม  คือสิ่งที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ เป็นการวัดพฤติกรรมและสังคมศาสตร์ (behavioral and social science) คุณลักษณะที่จะวัดกำหนดได้ไม่ชัดเจน  เช่น   การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (achievement) วัดเจตคติ (attitude) วัดความถนัด (aptitude)  วัดบุคลิกภาพ (personality)  เป็นต้น  เครื่องมือวัดด้านนี้มีคุณภาพด้อยกว่าเครื่องมือวัดสิ่งที่เป็นรูปธรรม  คือ ให้ผลการวัดที่เที่ยงตรงและแม่นยำน้อยกว่า  ลักษณะการวัด เป็นการวัดทางอ้อม  วัดได้ไม่สมบูรณ์  ไม่ละเอียดถี่ถ้วน และมีความผิดพลาด  ตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่ได้จากการวัดเป็นค่าโดยประมาณ   ไม่สามารถแทนปริมาณหรือคุณภาพของคุณลักษณะที่ต้องการวัดได้ทั้งหมด  เช่น  การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนคนหนึ่ง ได้ 15 คะแนน  ตัวเลข 15 ไม่ได้แทนปริมาณความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนคนนี้ทั้งหมด  แม้แต่นักเรียนที่สอบได้คะแนนเต็ม  ไม่ได้หมายความว่านักเรียนผู้นั้นมีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าวสมบูรณ์เต็มตามกรอบของหลักสูตร ในทางตรงกันข้ามนักเรียนที่ได้ 0 คะแนน  ก็ไม่ได้หมายความว่านักเรียนผู้นั้นไม่มีความรู้ความสามารถในคุณลักษณะดังกล่าว  เพียงแต่ตอบคำถามผิดหรือเครื่องมือวัดไม่ตรงกับความรู้ความสามารถที่นักเรียนคนนั้นมี เลข 0 นี้ เป็นศูนย์เทียม

          ลักษณะการวัดทางการศึกษา

           การวัดทางการศึกษาเป็นการวัดคุณลักษณะที่เป็นนามธรรม  มีลักษณะการวัด ดังนี้

           1. เป็นการวัดทางอ้อม  คือ  ไม่สามารถวัดคุณลักษณะที่ต้องการวัดได้โดยตรง  ต้องนิยามคุณลักษณะดังกล่าวไห้เป็นพฤติกรรมที่วัดได้ก่อน  จากนั้นจึงวัดตามพฤติกรรมที่นิยาม เช่น การวัดความรับผิดชอบของนักเรียน ต้องให้นิยามคุณลักษณะความรับผิดชอบเป็นพฤติกรรมที่วัดได้  โดยอาจจะแยกเป็นพฤติกรรมย่อย เช่น ไม่มาโรงเรียนสาย  ทำงานทุกงานที่ได้รับมอบหมาย  นำวัสดุอุปกรณ์การเรียนที่ครูสั่งมาครบทุกครั้ง  ส่งงานหรือการบ้านตามเวลาที่กำหนด  เป็นต้น 

            2. วัดได้ไม่สมบูรณ์  การวัดทางการศึกษาไม่สามารถทำการวัดคุณลักษณะที่ต้องการวัดได้ครบถ้วนสมบูรณ์  วัดได้เพียงบางส่วน  หรือวัดได้เฉพาะตัวแทนของคุณลักษณะทั้งหมด  เช่นการวัดความสามารถการอ่านคำของนักเรียน  ผู้วัดไม่สามารถนำคำทุกคำมาทำการทดสอบนักเรียน  ทำได้เพียงนำคำส่วนหนึ่งที่คิดว่าเป็นตัวแทนของคำทั้งหมดมาทำการวัด  เป็นต้น

             3. มีความผิดพลาด  สืบเนื่องจากการที่ไม่สามารถวัดได้โดยตรง  และการนิยามสิ่งที่ต้องการวัดก็ไม่สามารถนิยามให้เป็นพฤติกรรมที่วัดได้ได้ทั้งหมด  จึงวัดได้ไม่สมบูรณ์  ตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่ได้จากการวัดเป็นการประมาณคุณลักษณะที่ต้องการวัด  ซึ่งในความเป็นจริงคุณลักษณะดังกล่าวอาจจะมีมากหรือน้อยกว่า  ผลการวัดจึงมีความผิดพลาดของการวัด  หรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  การวัดที่ดีจะต้องให้เกิดการผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

            4. อยู่ในรูปความสัมพันธ์  การที่จะรู้ความหมายของตัวเลขที่วัดได้  ต้องนำตัวเลขดังกล่าวไปเทียบกับเกณฑ์หรือเทียบกับคนอื่น  เช่น นำคะแนนที่นักเรียนสอบได้เทียบกับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม  เทียบกับคะแนนของเพื่อนที่สอบพร้อมกัน  หรือเทียบกับคะแนนของนักเรียนเอง

กับการสอบครั้งก่อนๆ  ถ้าคะแนนสูงกว่าเพื่อน แสดงว่ามีความสามารถในเรื่องที่วัดมากกว่าเพื่อนคนนั้น  หรือถ้ามีคะแนนสูงกว่าคะแนนที่ตนเองเคยสอบผ่านมา  แสดงว่ามีพัฒนาการขึ้น  เป็นต้น

หลักการวัดทางการศึกษา

การวัดทางการศึกษา มีหลักการเบื้องต้น ดังนี้

             1. นิยามสิ่งที่ต้องการวัดให้ชัดเจน  ดังที่กล่าวไว้ในลักษณะการวัดว่า การวัดทางการศึกษาเป็นการวัดทางอ้อม  การที่จะวัดให้มีคุณภาพต้องนิยามคุณลักษณะที่ต้องการวัดให้ตรงและชัดเจน  การนิยามนี้ มีความสำคัญมาก  ถ้านิยามไม่ตรงหรือไม่ถูกต้อง  เครื่องมือวัดที่สร้างตามนิยามก็ไม่มีคุณภาพ  ผลการวัดก็ผิดพลาด  คือ วัดได้ไม่ตรงกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด 

            2. ใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ  หัวใจสำคัญของการวัด คือ สามารถวัดคุณลักษณะได้ตรงตามกับที่ต้องการวัดและวัดได้แม่นยำ  โดยใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ  คุณภาพของเครื่องมือมีหลายประการ  ที่สำคัญคือ มีความตรง (validity) คือวัดได้ตรงกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด และมีความเที่ยง (reliability) คือวัดได้คงที่ คือวัดได้กี่ครั้งก็ให้ผลการวัดที่ไม่เปลี่ยนแปลง

            3.  กำหนดเงื่อนไขของการวัดให้ชัดเจน  คือกำหนดให้แน่นอนว่าจะทำการวัดอะไร  วัดอย่างไร  กำหนดตัวเลขและสัญลักษณ์อย่างไร

ขั้นตอนการวัดทางการศึกษา

        1. ระบุจุดประสงค์และขอบเขตของการวัด  ว่าวัดอะไร วัดใคร

        2. นิยามคุณลักษณะที่ต้องการวัดให้เป็นพฤติกรรมที่วัดได้

        3. กำหนดวิธีการวัดและเครื่องมือวัด

        4.  จัดหาหรือสร้างเครื่องมือวัด  กรณีสร้างเครื่องมือใหม่ดำเนินการตามขั้นตอน  ดังนี้

             4.1 สร้างข้อคำถาม เงื่อนไข  สถานการณ์  หรือสิ่งเร้า  ที่จะกระตุ้นให้ผู้ถูกวัดแสดงพฤติกรรมตอบสนองออกมาเพื่อทำการวัด  โดยข้อคำถามเงื่อนไข  สถานการณ์  หรือสิ่งเร้าดังกล่าวต้องตรงและครอบคลุมคุณลักษณะที่นิยามไว้

             4.2 พิจารณาข้อคำถาม เงื่อนไข  สถานการณ์  หรือสิ่งเร้า โดยอาจให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเนื้อหาและทางด้านวัดผลช่วยพิจารณา

           4.3 ทดลองใช้เครื่องมือ  กับกลุ่มที่เทียบเคียงกับกลุ่มที่ต้องการวัด

           4.4 หาคุณภาพของเครื่องมือ  มีคุณภาพรายข้อและคุณภาพ เครื่องมือทั้งฉบับ

           4.5 จัดทำคู่มือวัดและการแปลความหมาย

           4.6 จัดทำเครื่องมือฉบับสมบูรณ์

      5.  ดำเนินการวัดตามวิธีการที่กำหนด

      6. ตรวจสอบและวิเคราะห์ผลการวัด

      7. แปลความหมายผลการวัดและนำผลการวัดไปใช้

 

การประเมิน (Evaluation or Assessment or Appraisal)

ความหมาย

          การประเมินและการประเมินผล  มีความหมายทำนองเดียวกับ  การวัดและการวัดผล ดังนี้

          การประเมิน เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวัด คือ นำตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่ได้จากการวัดมาตีค่าอย่างมีเหตุผล โดยเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น โรงเรียนกำหนดคะแนนที่น่าพอใจของวิชาคณิตศาสตร์ไว้ที่ร้อยละ 60 นักเรียนที่สอบได้คะแนนตั้งแต่ 60 % ขึ้นไป ถือว่าผ่านเกณฑ์ที่น่าพอใจ  หรืออาจจะกำหนดเกณฑ์ไว้หลายระดับ  เช่น ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 40  อยู่ในเกณฑ์ควรปรับปรุง  ร้อยละ 40-59 อยู่ในเกณฑ์พอใช้  ร้อยละ 60-79 อยู่ในเกณฑ์ดี และร้อยละ 80 ขึ้นไป  อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เป็นต้น  ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าเป็นการประเมิน       

          การประเมินผล  มีความหมายเช่นเดียวกับการประเมิน  แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวัดผลสำหรับภาษาอังกฤษมีหลายคำ  ที่ใช้มากมี 2 คำ คือ evaluation  และ  assessment     2 คำนี้มีความหมายต่างกัน  คือevaluation  เป็นการประเมินตัดสิน  มีการกำหนดเกณฑ์ชัดเจน (absolute criteria)  เช่น ได้คะแนนร้อยละ 80 ขึ้นไป ตัดสินว่าอยู่ในระดับดี  ได้คะแนนร้อยละ 60 – 79  ตัดสินว่าอยู่ในระดับพอใช้  ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 60  ตัดสินว่าอยู่ในระดับควรปรับปรุง  evaluation  จะใช้กับการประเมินการดำเนินงานทั่วๆ ไป  เช่น  การประเมินโครงการ (Project Evaluation)  การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation)

          assessment  เป็นการประเมินเชิงเปรียบเทียบ  ใช้เกณฑ์เชิงสัมพันธ์ (relative criteria) เช่น เทียบกับผลการประเมินครั้งก่อน  เทียบกับเพื่อนหรือกลุ่มใกล้เคียงกัน assessment  มักใช้ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  การประเมินตนเอง  (Self Assessment)

ลักษณะการประเมินทางการศึกษา

          การประเมินทางการศึกษามีลักษณะ ดังนี้

           1. เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนหรือกระบวนการจัดการเรียนรู้  ซึ่งควรทำการประเมินอย่างต่อเนื่อง  เพื่อนำผลการประเมินไปปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

           2. เป็นการประเมินคุณลักษณะหรือพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าบรรลุตามจุดประสงค์หรือไม่

          3. เป็นการประเมินในภาพรวมทั้งหมดของผู้เรียน โดยการรวบรวมข้อมูลและประมวลจากตัวเลขจากการวัดหลายวิธีและหลายแหล่ง

          4. เป็นกระบวนการเกี่ยวข้องกับบุคลหลายกลุ่ม  ทั้งครู  นักเรียน  ผู้ปกครองนักเรียน  ผู้บริหารโรงเรียน และอาจรวมถึงคณะกรรมการต่างๆ ของโรงเรียน

 

หลักการประเมินทางการศึกษา

หลักการประเมินทางการศึกษาโดยทั่วไปมีดังนี้

          1. ขอบเขตการประเมินต้องตรงและครอบคลุมหลักสูตร

          2. ใช้ข้อมูลจากผลการวัดที่ครอบคลุม  จากการวัดหลายแหล่ง  หลายวิธี

          3. เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินผลการประเมินมีความชัดเจน  เป็นไปได้  มีความยุติธรรม  ตรงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

 

ขั้นตอนในการประเมินทางการศึกษา

          การประเมินทางการศึกษามีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้

            1. กำหนดจุดประสงค์การประเมิน   โดยให้สอดคล้องและครอบคลุมจุดประสงค์ของหลักสูตร

            2. กำหนดเกณฑ์เพื่อตีค่าข้อมูลที่ได้จาการวัด

            3. รวบรวมข้อมูลจากการวัดหลายๆ แหล่ง

            4. ประมวลและผสมผสานข้อมูลต่างๆ ของทุกรายการที่วัดได้

            5. วินิจฉัยชี้บ่งและตัดสินโดยเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้

ประเภทของการประเมินทางการศึกษา

          การประเมินแบ่งได้หลายประเภท  ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง  ดังนี้

                   1. แบ่งตามจุดประสงค์ของการประเมิน   การแบ่งตามจุดประสงค์ของการประเมิน แบ่งได้ดังนี้

                    1.1 การประเมินก่อนเรียน  หรือก่อนการจัดการเรียนรู้  หรือการประเมินพื้นฐาน (Basic Evaluation) เป็นการประเมินก่อนเริ่มต้นการเรียนการสอนของแต่ละบทเรียนหรือแต่ละหน่วย  แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

                                  1.1.1 การประเมินเพื่อจัดตำแหน่ง (Placement Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาดูว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนอยู้ในระดับใดของกลุ่ม  ประโยชน์ของการประเมินประเภทนี้  คือ ครูใช้ผลการประเมินเพื่อกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน  ผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนน้อยคืออยู่ในตำแหน่งท้ายๆ ควรได้รับการเพิ่มพูนเนื้อหาสาระนั้นมากกว่ากลุ่มที่อยู่ในลำดับต้นๆ คือ กลุ่มที่มีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนมากกว่า  หรือกลุ่มที่มีความรู้พื้นฐานในสาระที่จะเรียนดีกว่า  และแต่ละกลุ่มควรใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

                                 1.1.2 การประเมินเพื่อวินิจฉัย (Diagnostic Evaluation) เป็นการประเมินก่อนการเรียนการสอนอีกเช่นกัน  แต่เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาแยกแยะว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในสาระที่จะเรียนรู้มากน้อยเพียงใด  มีพื้นฐานเพียงพอที่จะเรียนในเรื่องที่จะสอนหรือไม่  จุดใดสมบูรณ์แล้ว  จุดใดยังบกพร่องอยู่  จำเป็นต้องได้รับการสอนเสริมให้มีพื้นฐานที่เพียงพอเสียก่อนจึงจะเริ่มต้นสอนเนื้อหาในหน่วยการเรียนต่อไป  และจากพื้นฐานที่ผู้เรียนมีอยู่ควรใช้รูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร

                   ทั้งการประเมินเพื่อจัดตำแหน่งและการประเมินเพื่อวินิจฉัยมีจุดประสงค์เหมือนกันคือเพื่อทราบพื้นฐานความรู้ความสามารถของผู้เรียนก่อนที่จะจัดการเรียนรู้หรือการเรียนการสอนในสาระการเรียนรู้นั้นๆ  แต่การประเมิน 2 ประเภทดังกล่าวมีความแตกต่างกัน คือ การประเมินเพื่อจัดตำแหน่ง เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาในภาพรวม  ใช้เครื่องมือไม่ละเอียดหรือจำนวนข้อคำถามไม่มาก  แต่การประเมินเพื่อวินิจฉัยเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาอย่างละเอียด  แยกแยะเนื้อหาเป็นตอนๆ เพื่อพิจารณาว่าผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานของเนื้อหาแต่ละตอนมากน้อยเพียงใด  จุดใดบกพร่องบ้าง  ดังนั้นจำนวนข้อคำถามมีมากกว่า

                  1.2 การประเมินเพื่อพัฒนา หรือการประเมินย่อย (Formative Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ การประเมินประเภทนี้ใช้ระหว่างการจัดการเรียนการสอน  เพื่อตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในระหว่างการจัดการเรียนการสอนหรือไม่  หากผู้เรียนไม่ผ่านจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ผู้สอนก็จะหาวิธีการที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ผลการประเมินยังเป็นการตรวจสอบครูผู้สอนเองว่าเป็นอย่างไร แผนการเรียนรู้รายครั้งที่เตรียมมาดีหรือไม่ ควรปรับปรุงอย่างไร  กระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นอย่างไร มีจุดใดบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป

                    การประเมินประเภทนี้  นอกจากจะใช้ผลการประเมินเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนแล้ว ผลการประเมินยังใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรของสถานศึกษาด้วย กล่าวคือ หากพบว่าเนื้อหาสาระใดที่ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ไม่เป็นไปตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  โดยที่ผู้สอนได้พยายามปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่กับผู้เรียนหลายกลุ่มแล้วยังได้ผลเป็นอย่างเดิม แสดงว่าผลการเรียนรู้ที่คาดหวังนั้นสูงเกินไปหรือไม่เหมาะกับผู้เรียนในชั้นเรียนระดับนี้ หรือเนื้อหาอาจจะยากหรือซับซ้อนเกินไปที่จะบรรจุในหลักสูตรระดับนี้ ควรบรรจุในชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะเห็นว่าผลจากการประเมินจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาด้วย

             1.3 การประเมินเพื่อตัดสินหรือการประเมินผลรวม (Summative Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อตัดสินผลการจัดการเรียนรู้ เป็นการประเมินหลังจากผู้เรียนได้เรียนไปแล้ว อาจเป็นการประเมินหลังจบหน่วยการเรียนรู้หน่วยใดหน่วยหนึ่ง   หรือหลายหน่วย  รวมทั้งการประเมินปลายภาคเรียนหรือปลายปี ผลจากการประเมินประเภทนี้ใช้ในการตัดสินผลการจัดการเรียนการสอน หรือตัดสินใจว่าผู้เรียนคนใดควรจะได้รับระดับคะแนนใด

 

              2. แบ่งตามการอ้างอิง

             การแบ่งประเภทของการประเมินตามการอ้างอิงหรือตามระบบของการวัด  แบ่งออกเป็น

             2.1 การประเมินแบบอิงตน (Self-referenced Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อนำผลจากการเรียนรู้มาเปรียบเทียบกับความสามารถของตนเอง เป็นการประเมินเพื่อปรับปรุงตนเอง  (Self Assessment) เช่น ประเมินโดยการเปรียบเทียบผลการทดสอบก่อนเรียนกับทดสอบหลังเรียนของตนเอง การประเมินแบบนี้ ควรจะใช้แบบทดสอบคู่ขนานหรือแบบทดสอบเทียบเคียง (Equivalence Test) เพื่อเปรียบเทียบกันได้ 

            2.2 การประเมินแบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาว่าผู้ได้รับการประเมินแต่ละคนมีความสามารถมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ถูกวัดด้วยแบบทดสอบฉบับเดียวกัน การประเมินประเภทนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของกลุ่มเป็นสำคัญ นิยมใช้ในการจัดตำแหน่งผู้ถูกประเมิน หรือใช้เพื่อคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อ

            2.3 การประเมินแบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced Evaluation) เป็นการนำผลการสอบที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ความสำคัญอยู่ที่เกณฑ์ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความสามารถของกลุ่ม ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ได้แก่ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและมาตรฐานการเรียนรู้

3. แบ่งตามผู้ประเมิน

             การแบ่งประเภทของการประเมินตามกลุ่มผู้ประเมิน (Evaluator) แบ่งออกเป็น

             3.1 การประเมินตนเอง (Self Assessment) หรือการประเมินภายใน (Internal Evaluation) เป็นการประเมินลักษณะเดียวกับการประเมินแบบอิงตน คือ เพื่อนำผลการประเมินมาพัฒนาหรือปรับปรุงตนเอง  การประเมินประเภทนี้สามารถประเมินได้ทุกกลุ่ม  ผู้เรียนประเมินตนเองเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเอง  ครูประเมินเพื่อปรับปรุงการสอนของตนเอง นอกจากประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนแล้ว  สามารถประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงได้ทุกเรื่อง ผู้บริหารสถานศึกษาประเมินเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษาโดยอาจจะประเมินด้วยตนเอง หรือมีคณะประเมินของสถานศึกษา เรียกว่า การประเมินภายใน (Internal Evaluation) หรือการศึกษาตนเอง (Self Study) โดยอาจจะประเมินโดยรวม  หรือแบ่งประเมินเป็นส่วนๆ  เป็นด้านๆ  ลักษณะการประเมินอาจจะมีคณะเดียวประเมินทุกส่วน หรือจะให้แต่ละส่วนประเมินตนเองหรือภายในส่วนของตนเอง เช่น แต่ละระดับชั้นเรียน  แต่ละหมวดวิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้  แต่ละฝ่าย อาทิ ฝ่ายปกครอง  ฝ่ายวิชาการ  ฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นต้น  เพื่อให้แต่ละส่วนมีการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของตนเอง และอาจจะรวบรวมผลการประเมินแต่ละส่วนเพื่อจัดทำเป็นรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self Study Report : SSR หรือ Self Assessment Report : SAR)

             3.2 การประเมินโดยผู้อื่นหรือการประเมินภายนอก (External Evaluation)  สืบเนื่องจากการประเมินตนเองหรือการประเมินภายในซึ่งมีความสำคัญมากในการพัฒนาปรับปรุง  แต่การประเมินภายในมีจุดอ่อนคือความน่าเชื่อถือ   โดยบุคคลภายนอกมักคิดว่าการประเมินภายในนั้น มีความลำเอียง  ผู้ประเมินตนเองมักจะเข้าข้างตนเอง  ดังนั้นจึงมีการประเมินโดยผู้อื่นหรือประเมินโดยผู้ประเมินภายนอก  เพื่อยืนยันการประเมินภายใน  และอาจจะมีจุดอ่อนหรือจุดที่ควรได้รับการพัฒนายิ่งขึ้นในทรรศนะของผู้ประเมินในฐานะที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ดี  การประเมินภายนอกก็มีจุดบกพร่องในเรื่องการรู้รายละเอียดและถูกต้องของสิงที่จะประเมิน  และจุดบกพร่องอีกประการหนึ่งคือเจตคติของผู้ถูกประเมิน ถ้ารู้สึกว่าถูกจับผิดก็จะต่อต้าน  ไม่ให้ความร่วมมือ  ไม่ยอมรับผลการประเมิน  ทำให้การประเมินดำเนินไปด้วยความยากลำบาก  ดังนั้นการประเมินภายนอกควรมาจากความต้องการของผู้ถูกประเมิน เช่น ครูผู้สอนให้ผู้เรียน  ผู้ปกครอง  หรือเพื่อนครูประเมินการสอนของตนเอง  สถานศึกษาให้ผู้ปกครองหรือนักประเมินมืออาชีพ (ภายนอก) ประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา

ความสำคัญของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้

          การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน  เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทำให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นในการพิจารณาว่าผู้เรียนเกิดคุณภาพการเรียนรู้ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและมาตรฐานการเรียนรู้

           จากประเภทของการประเมินโดยเฉพาะการแบ่งประเภทโดยใช้จุดประสงค์ของการประเมินเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภท  จะเห็นว่า การวัดและประเมินผลการเรียนนอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนแล้ว ยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพการการสอนของครู  และเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนคุณภาพการดำเนินงานการจัดการศึกษาของสถานศึกษาด้วย   ดังนั้นครูและสถานศึกษาต้องมีข้อมูลผลการเรียนรู้ของผู้เรียน  ทั้งจากการประเมินในระดับชั้นเรียน  ระดับสถานศึกษา  และระดับอื่นที่สูงขึ้น  ประโยชน์ของการวัดและการประเมินผลการเรียนรู้จำแนกเป็นด้านๆ ดังนี้

 

        1. ด้านการจัดการเรียนรู้

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนมีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้หรือการจัดการเรียนการสอนดังนี้

          1.1  เพื่อจัดตำแหน่ง (Placement)  ผลจากการวัดบอกได้ว่าผู้เรียนมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใดของกลุ่มหรือเปรียบเทียบกับเกณฑ์แล้วอยู่ในระดับใด  การวัดและประเมินเพื่อจัดตำแหน่งนี้ มักใช้ในวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ

                     1.1.1 เพื่อคัดเลือก (Selection) เป็นการใช้ผลการวัดเพื่อคัดเลือกเพื่อเข้าเรียน  เข้าร่วมกิจกรรม-โครงการ  หรือเป็นตัวแทน(เช่นของชั้นเรียนหรือสถานศึกษา)  เพื่อการทำกิจกรรม  หรือการให้ทุนผล  การวัดและประเมินผลลักษณะนี้คำนึงถึงการจัดอันดับที่เป็นสำคัญ

                      1.1.2 เพื่อแยกประเภท (Classification) เป็นการใช้ผลการวัดและประเมินเพื่อแบ่งกลุ่มผู้เรียน เช่น แบ่งเป็นกลุ่มอ่อน ปานกลาง  และเก่ง  แบ่งกลุ่มผ่าน-ไม่ผ่านเกณฑ์ หรือตัดสินได้-ตก  เป็นต้น  เป็นการวัดและประเมินที่ยึดเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งกลุ่มเป็นสำคัญ

          1.2  เพื่อวินิจฉัย (Diagnostic) เป็นการใช้ผลการวัดและประเมินเพื่อค้นหาจุดเด่น-จุดด้อยของผู้เรียนว่ามีปัญหาในเรื่องใด  จุดใด  มากน้อยแค่ไหน  เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจการวางแผนการจัดการเรียนรู้และการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เครื่องมือที่ใช้วัดเพื่อการวินิจฉับ เรียกว่า แบบทดสอบวินิจฉัย (Diagnostic Test) หรือแบบทดสอบวินิจฉัยการเรียน  ประโยชน์ของการวัดและประเมินประเภทนี้นำไปใช้ในวัตถุประสงค์ 2 ประการดังนี้

                      1.2.1 เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน     ผลการวัดผู้เรียนด้วยแบบทดสอบวินิจฉัยการเรียนจะทำให้ทราบว่าผู้เรียนมีจุดบกพร่องจุดใด  มากน้อยเพียงใด ซึ่งครูผู้สอนสามารถแก้ไขปรับปรุงโดยการสอนซ่อมเสริม (Remedial Teaching) ได้ตรงจุด เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้

                      1.2.2 เพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ ผลการวัดด้วยแบบทดสอบวินิจฉัยการเรียน นอกจากจะช่วยให้เห็นว่าผู้เรียนมีจุดบกพร่องเรื่องใดแล้ว ยังช่วยให้เห็นจุดบกพร่องของกระบวนการจัดการเรียนรู้อีกด้วย เช่น ผู้เรียนส่วนใหญ่มีจุดบกพร่องจุดเดียวกัน  ครูผู้สอนต้องทบทวนว่าอาจจะเป็นเพราะวิธีการจัดการเรียนรู้ไม่เหมาะสมต้องปรัปรุงแก้ไขให้เหมาะสม

          1.3 เพื่อตรวจสอบและปรับปรุง  การประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Evaluation)  เป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบผลการเรียนรู้เทียบกับจุดประสงค์หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  ผลจากการประเมินใช้พัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  โดยอาจจะปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการสอน (Teaching Method) ปรับเปลี่ยนสื่อการสอน (Teaching Media) ใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ (Teaching Innovation) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ

           1.4 เพื่อการเปรียบเทียบ (Assessment) เป็นการใช้ผลการวัดและประเมินเปรียบเทียบว่าผู้เรียนมีพัฒนาการจากเดิมเพียงใด และอยู่ในระดับที่พึงพอใจหรือไม่

           1.5 เพื่อการตัดสิน  การประเมินเพื่อการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนเป็นการประเมินรวม (Summative Evaluation)  คือใช้ข้อมูลที่ได้จากการวัดเทียบกับเกณฑ์เพื่อตัดสินผลการเรียนว่าผ่าน-ไม่ผ่าน  หรือให้ระดับคะแนน 

 

         2 ด้านการแนะแนว

ผลจากการวัดและประเมินผู้เรียน  ช่วยให้ทราบว่าผู้เรียนมีปัญหาและข้อบกพร่องในเรื่องใด มากน้อยเพียงใด  ซึ่งสามารถแนะนำและช่วยเหลือผู้เรียนให้แก้ปัญหา มีการปรับตัวได้ถูกต้องตรงประเด็น  นอกจากนี้ผลการวัดและประเมินยังบ่งบอกความรู้ความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน ซึ่งสามารถนำไปใช้แนะแนวการศึกษาต่อและแนะแนวการเลือกอาชีพให้แก่ผู้เรียนได้

 

         3. ด้านการบริหาร

ข้อมูลจากการวัดและประเมินผู้เรียน ช่วยให้ผู้บริหารเห็นข้อบกพร่องต่างๆ ของการจัดการเรียนรู้ เป็นการประเมินผลการปฏิบัติงานของครู  และบ่งบอกถึงคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษามักใช้ข้อมูลได้จากการวัดและประเมินใช้ในการตัดสินใจหลายอย่าง เช่น การพัฒนาบุคลากร  การจัดครูเข้าสอน การจัดโครงการ  การเปลี่ยนแปลงโปรแกรมการเรียน นอกจากนี้การวัดและประเมินผลยังให้ข้อมูลที่สำคัญใน

การจัดทำรายงานการประเมินตนเอง (SSR) เพื่อรายงานผลการจัดการศึกษาสู่ผู้ปกครอง  สาธารณชน หน่วยงานต้นสังกัด  และนำไปสู่การรองรับการประเมินภายนอก จะเห็นว่าการวัดและประเมินผลการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของระบบการประกันคุณภาพทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา

         

        4. ด้านการวิจัย

การวัดและประเมินผลมีประโยชน์ต่อการวิจัยหลายประการดังนี้

4.1  ข้อมูลจาการวัดและประเมินผลนำไปสู่ปัญหาการวิจัย  เช่น ผลจากการวัดและประเมินพบว่าผู้เรียนมีจุดบกพร่องหรือมีจุดที่ควรพัฒนาการแก้ไขจุดบกพร่องหรือการพัฒนาดังกล่าวโดยการปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีสอนหรือทดลองใช้นวัตกรรมโดยใช้กระบวนการวิจัย การวิจัยดังกล่าวเรียกว่า  การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Research)  นอกจากนี้ผลจากการวัดและประเมินยังนำไปสู่การวิจัยในด้านอื่น ระดับอื่น  เช่น การวิจัยของสถานศึกษาเกี่ยวกับการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียน เป็นต้น

4.2  การวัดและประเมินเป็นเครื่องมือของการวิจัย  การวิจัยใช้การวัดในการรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาผลการวิจัย ขั้นตอนนี้เริ่มจากการหาหรือสร้างเครื่องมือวัด  การทดลองใช้เครื่องมือ  การหาคุณภาพเครื่องมือ  จนถึงการใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพแล้วรวบรวมข้อมูลการวัดตัวแปรที่ศึกษา  หรืออาจต้องตีค่าข้อมูล  จะเห็นว่าการวัดและประเมินผลมีบทบาทสำคัญมากในการวิจัย  เพราะการวัดไม่ดี  ใช้เครื่องมือไม่มีคุณภาพ  ผลของการวิจัยก็ขาดความน่าเชื่อถือ

 

การวัดและประเมินก่อนเรียน  ระหว่างเรียน  และหลังเรียน

ก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียน 3 คำนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน  แต่ต่างกันที่ระยะเวลาและจุดประสงค์ของการวัดและประเมิน  3 คำนี้มีความหมายทั้งในมิติที่กว้างและแคบ  ดังนี้

         1. ก่อนเรียน  

การวัดและประเมินก่อนเรียนมีจุดประสงค์เพื่อมทราบสภาพของผู้เรียน ณ เวลาก่อนที่จะเรียน เช่น ความรู้พื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ  ก่อนเรียนอาจจะหมายถึง

1.1  ก่อนเข้าเรียน  ซึ่งอาจจะตั้งแต่ก่อนเรียนระดับปฐมวัย หรือก่อนจะเริ่มเรียนหลักสูตรสถานศึกษานั้น  เช่น สถานศึกษาที่เปิดสอนในช่วงชั้นที่ 1 และ 2  ก่อนเรียนในที่นี้อาจจะหมายถึงก่อนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นต้น

1.2  ก่อนเรียนช่วงชั้น  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความสำคัญกับช่วงชั้น  ให้มีการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเมื่อจบแต่ละช่วงชั้น  ก่อนเรียนในที่นี้จึงหมายถึงก่อนจะเริ่มเรียนช่วงชั้นใดช่วงชั้นหนึ่ง เช่น ก่อนเรียนช่วงชั้นที่ 2 คือ ก่อนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นต้น

1.3  ก่อนเรียนแต่ละชั้น  ถึงแม้จะมีการกำหนดเป็นช่วงชั้น  แต่ชั้นเรียนหรือการเรียนแต่ละปีก็ยังมีความสำคัญ  โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา  การเรียนแต่ละชั้น/ปี อาจจะหมายถึงการเรียนกับครูคนใดคนหนึ่ง (กรณีที่ครูคนเดียวสอนนักเรียนทั้งชั้นทุกวิชาหรือเกือบทุกวิชา  โดยทั่วไปจะเป็นครูประจำชั้น) หรือเรียนครูกลุ่มหนึ่ง (สอนแยกรายวิชา)  การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละชั้นจะเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนในการวางแผนการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนตลอดทั้งปี

1.4  ก่อนเรียนแต่ละรายวิชา  มีลักษณะเช่นเดียวกับก่อนเรียนแต่ละชั้น  การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละชั้นอาจจะวัดและประเมินในภาพรวมหลายๆ วิชา  แต่การวัดและประเมินนี้  แยกวัดและประเมินแต่ละรายวิชา  โดยทั่วไปจะสอนโดยครูแต่ละคน  สำหรับระดับมัธยมศึกษา  รายวิชาส่วนใหญ่จัดการเรียนรู้เป็นรายภาคเรียน

1.5  ก่อนเรียนแต่ละหน่วยการเรียนรู้  หน่วยการเรียนรู้เป็นการจัดหมวดหมู่เนื้อหาในสาระการเรียนรู้เดียวกัน  โดยจัดเนื้อหาเรื่องเดียวกันหรือสัมพันธ์กันไว้ในหน่วยเดียวกัน  การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละหน่วย  เพื่อให้ได้ข้อมูลความรู้พื้นฐานของผู้เรียนในเรื่องหรือหน่วยนั้น  ซึ่งทั้งผู้เรียนและครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหน่วยนั้นได้อย่างเหมาะสม

1.6  ก่อนเรียนแต่ละแผนจัดการเรียนรู้  คือ การวัดและประเมินก่อนเรียนแต่ละครั้ง  ในหนึ่งหน่วยการเรียนรู้มักจะมีสาระที่จะเรียนรู้แยกย่อยสำหรับการสอนมากกว่า 1 ครั้ง  แต่ละครั้งจะมีแผนการจัดการเรียนรู้

 

        2. ระหว่างเรียน  

จุดประสงค์ของการวัดและประเมินระหว่างเรียน เพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าหรือพัฒนาการของผู้เรียนด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ  และคุณลักษณะที่พึงประสงค์  จากการเรียนรู้และการร่วมกิจกรรมของผู้เรียน โดยเทียบกับผลการวัดและประเมินก่อนเรียน  การวัดและประเมินระหว่างเรียนจะทำให้ได้ข้อมูลที่บ่งบอกถึงพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียน  ในขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูด้วย   ข้อมูลจากการวัดและประเมินระหว่างเรียนจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้เรียน  ครูผู้สอน  สถานศึกษา และผู้ปกครอง  สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่แตกย่อยมาจากมาตรฐานการเรียนรู้  และเป็นข้อมูลที่ใช้ในการปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน 

        3. หลังเรียน  

จุดประสงค์ของการวัดและประเมินหลังเรียน เพื่อตรวจสอบผลการเรียนของผู้เรียนด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ  และคุณลักษณะที่พึงประสงค์  จากการเรียนรู้และการร่วมกิจกรรมของผู้เรียน โดยเทียบกับผลการวัดและประเมินก่อนเรียนและระหว่างเรียน  การวัดและประเมินหลังเรียนจะทำให้ได้ข้อมูลที่บ่งบอกถึงพัฒนาการการเรียนรู้ของผู้เรียน  ในขณะเดียวกันยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูด้วย   ข้อมูลจากการวัดและประเมินหลังเรียนมีจุดประสงค์หลักคือใช้ในการตัดสินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน  นอกจากนี้  การวัดและประเมินผลหลังเรียนอาจจะเป็นข้อมูลก่อนการเรียนในระดับต่อไป  จึงเป็นประโยชน์ทั้งผู้เรียน  และครูผู้สอน  สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปพัฒนาและปรับปรุงการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนและสถานการณ์ 

 

เอกสารอ้างอิง

ทิวัตถ์  มณีโชติ.  การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ.  2549