วัดในฝัน
- รายละเอียด
- หมวด: บทความการศึกษา
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 27 สิงหาคม 2556 09:22
- เขียนโดย ผู้ปิดทอง
- ฮิต: 3338
วันในฝัน
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
วัดไทย มีหลายแบบแตกต่างกันอยู่มากพอสมควร พิจารณาดูคิดว่าพอ จะจำแนกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
ประเภทแรก เป็นวัดที่มุ่งพัฒนาถาวรวัตถุ ให้มีความโอ่อ่า หรูหรา มีสิ่งก่อสร้าง เสนาสนะใหญ่โตราคาแพง ถ้าโตที่สุด แพงที่สุดในจังหวัด หรือในภาคได้ก็ดีบางทีก็อ้างเป็นสถิติระดับชาติหรือระดับโลกไปเลยบางทีก็คิดสร้างสิ่งแปลกๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้เป็นชิ้นแรกชิ้นเดียวในประเทศหรือในโลก วัดประเภทนี้ต้องใช้ทุนรอนมาก ถ้าไม่มีมหาเศรษฐีใจบุญอุปถัมภ์เป็นพิเศษ เจ้าอาวาสก็ต้องหาเงิน เก่งเป็นพิเศษ ก็มักไม่แคล้วอาศัยพระพุทธคุณ สร้างวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง หรือทำนายทายทักโชคชะตาราศรี สะเดาะเคราะห์ สะเดาะโศกไปตามเรื่อง
เงินที่ได้จึงมักมาจากผู้มีความโลภในหัวใจเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ผู้เข้าวัดก็จะเป็นคนทั่วไปไม่ใช่คนในท้องถิ่น
ประเภทที่สอง เป็นวัดที่มุ่งเน้นปริยัติ มุ่งให้คน พระ เณร ได้รับการศึกษาในรูปแบบและวิธีการต่างๆ เช่น ช่วยสร้างโรงเรียน สอนหนังสือชาวบ้าน จัด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จัดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และอาจสูงถึงขั้นอยากให้เป็น วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงฆ์ วัดประเภทนี้ ถ้ามีทุนรอนไม่มากอาจจะเห็นมีกุฏิ โบสถ์ ศาลาเก่าซอมซ่อ แต่ว่ามีอาคารเรียนที่สวยงาม มีกิจกรรมเพื่อการศึกษาในวัด ไม่ขาดวัดที่มุ่งจัดการศึกษามักยากจนเพราะเอาเงินที่มีอยู่ไปทุ่มเทเพื่อการศึกษาเสียหมด
ประเภทที่สาม เป็นวัดมุ่งการปฏิบัติ เช่น เน้นวิปัสสนาธุระ เน้นการ สร้างความสงบในจิตใจให้ กับผู้เลื่อมใสศรัทธา วัดประเภทนี้มักทำวัดให้คล้ายธรรมชาติ มีต้นไม้ มีป่า มีลำธาร มีภูเขา มีถ้ำ เป็นต้น ที่เป็นอยู่แล้วตามธรรมชาติก็มี ที่เลียนแบบธรรมชาติก็มีวัดที่มุ่งการปฏิบัติมักลงทุนในสิ่งก่อสร้างน้อย บางทีแทบไม่ต้องลงทุน เลยเพียงไปหาทำเลธรรมชาติเหมาะ ๆ เลือกเป็นที่ตั้งวัด ทำให้เกิดวัด ตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ ขึ้นเรื่อย ๆ ก็ด้วยเหตุนี้
ถ้าถามว่าวัดทั้ง 3 ประเภทนี้ ประเภทไหนเป็นวัดที่ควรส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยให้มากที่สุด บางคนอาจชอบวัดประเภทที่ ๑ แต่ที่ผมสนใจคือ วัดประภทที่ ๒ หรือ ประเภทที่๓ หรือถ้าจะให้ดีก็เป็นวัดที่ผสมผสานทั้ง ๒ ประเภทเข้า ด้วยกันวัดในอุดมคติน่าจะเป็นอย่างไร คิดว่าเรื่องนี้ต้องไปดูกันที่บทบาทหน้าที่ของวัด วัดตั้งแต่โบราณนานมาทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งเพื่อพระพุทธศาสนา และเพื่อสังคมอัน เป็นที่ตั้งวัดในอตีดกาล วัดเป็นแหล่งรวบรวมศิลปวิทยาการทั้งหลายของสังคม พระสงฆ์เป็นผู้ทรงความรู้มากที่สุดแม้แต่ลูกพระยามหากษัตริย์ก็ยังส่งมาเป็น
ศิษย์วัด เพื่อเรียนหนังสือ เรียนกิริยามารยาท การประพฤติปฏิบัติตน ตลอดจนความรู้ในการปกครองบ้านเมือง เมื่อประเทศชาติเปลี่ยนแปลงไป การศึกษาสมัยใหม่เข้ามามี บทบาทมากขึ้น เกิดโรงเรียนเข้ามาแทนที่บทบาทของวัด แต่วัดก็ยังสนับสนุนค้ำจุน เช่น ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสถานศึกษาต่าง ๆ บางแห่งก็ยังจัดอยู่ หลายวัดได้ พัฒนาตนเอง เป็นแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ให้บริการทางสังคมได้อย่างกว้างขวาง บทบาทของวัดในการเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ต่อชุมชนจึงยังคงมีอยู่ และยังเป็น บทบาทที่สำคัญทั้งปัจจุบันนี้และในอนาคต
วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ชาวบ้านรอบ ๆ วัดจะรู้สึกเป็นเจ้าของหวงแหนและทำนุบำรุงวัดถ้ามีสิ่งไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นก็จะไม่สบายใจ เดือดร้อนแทนถ้ามีสิ่งที่ดีงามมีชื่อเสียงชาวบ้านก็จะพลอยยินดีด้วยความเป็นศูนย์รวมจิตใจของ ชุมชนของวัดเป็น สิ่งมีค่าและมีความสำคัญยิ่งยิ่งถ้าพิจารณาว่าเรามีวัดถึง ๓๐,๐๐๐ วัด ก็เท่ากับว่าประเทศไทยมีศูนย์รวมจิตใจถึง ๓๐,๐๐๐ แห่ง ทุกแห่งมีจุดมุ่งหมาย เดียวกัน และถ้าสร้างสัมพันธ์ทั้ง ๓๐,๐๐๐ ดวงไว้ได้ดี ประเทศชาติก็จะมีความมั่นคง อย่างแน่นอน วัดเป็นแหล่งกลาง สำหรับการเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา คนไทยเกือบทั้งหมดมีเลือดเนื้อเชื้อไขจิตใจอยู่กับพระพุทธศาสนาอยู่แล้วตั้งแต่เกิด การเป็น พุทธศาสนิกชนกับการเรียนรู้
ทางพระพุทธศาสนาจึงเป็นของคู่กัน คนไทยเรียนรู้ด้วย การเป็นศิษย์วัด เข้าไปรับใช้พระศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของพระ โตขึ้นก็ได้ บวชเรียนอยู่ในวัด เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ใช้วัดเป็นที่สงบจิตใจค้นหาสัจธรรมเกี่ยวกับ ชีวิต วัดจึงเป็นศูนย์รวมที่พึ่งทางใจของพุทธศาสนิกชนที่สำคัญยิ่ง วัดที่ดีต้องทำหน้าที่ได้ทั้ง ๓ ประการนี้ไปพร้อม ๆ กัน ถ้าขาดด้านใดด้าน หนึ่งไปเสีย ก็จะขาดสมดุลย์ของความเป็นวัดไป วัดที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ก็น่าจะมี องค์ประกอบต่าง ๆ
ดังต่อไปนี้ คือ
๑. วัดมีบริเวณกว้างขวางพอสมควร เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดว่า วัด ควรจะมีพื้นที่เท่าใด จึงจะเรียกว่าพอสมควร คงจะต้องพิจารณาถึงขนาดชุมชนที่อยู่ โดยรอบวัด และกิจกรรมของวัดที่พึงจะมีประกอบกันด้วยวัดในชุมชนเล็ก ๆ อาจไม ต้องมีพื้นที่มากนัก แต่วัดในชุมชนใหญ่ ถ้ามีพื้นที่กว้างขวางก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น พื้นที่ขนาด ๑๐ ถึง ๑๕ ไร่ เป็นพื้นที่ไม่มากไม่น้อยเกินไปน่าจะพอเพียงสำหรับวัด ทั่ว ๆ ไป ในชุมชนขนาดเล็กเหมาะสมสำหรับการบูรณะพัฒนา และดูแลรักษาให้ใช้ ประโยชน์ได้เต็มที่ วัดบางแห่งมีพื้นที่มากนับ ๑๐๐ ไร่ ทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วถึง เกิดพื้นที่รกร้างว่างเปล่า บางครั้งก็มีปัญหามีผู้เข้าไปบุกรุก ทำให้เกิดความยุ่งยากกับวัด
๒. วัดควรอยู่ห่างไกลจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ วัดที่อยู่ในย่านกลางของชุมชนมักมีปัญหาเรื่อง เสียงรบกวน ผู้คนพลุกพล่าน ขาดความสงบ วัดที่มีโรงงาน อยู่ใกล้ ๆ อาจมีปัญหาเรื่องกลิ่นเสียงและควันวัดที่อยู่ติดถนนสายหลักที่มีการจราจร หนาแน่น ก็ทำให้มีเสียงรถรบกวนตลอดเวลาเป็นต้น ที่ตั้งวัดที่เหมาะสมจึงควรให้ ปราศจากสิ่งที่อาจจะรบกวนทั้งหลาย แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็ควรหาทางให้สิ่งที่ จะรบกวนหรือเป็นพิษ อยู่ห่างจากวัดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
๓. วัดต้องมีความสงบและร่มรื่น วัดที่สงบและร่มรื่น จะเป็นที่ดึงดูดใจให้ประชาชนสนใจเข้าวัดได้เป็นอย่างดี ความร่มรื่นจะเกิดได้ วัดต้องมีความสนใจรัก ต้นไม้ ปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับและไม้ยืนต้นมาก ๆ เป็นที่น่าเสียดายที่บางวัด ไม่ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะไม้ยืนต้นเพราะเกรงว่าต้นไม้จะบดบัง ความสวยงามของโบสถ์ วิหาร ที่มีอยู่ในวัด แต่ก็มีวัดเป็นจำนวนมาก ที่สนใจปลูกต้นไม้ให้ดูร่มครึ้ม เขียวชอุ่มสดชื่นอยู่
ตลอดเวลา ถ้ามีการผสมผสานการปลูกต้นไม้ หลากพันธุ์ ให้ขึ้นเป็นธรรมชาติ ทั้งไม้ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธคือ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นมะม่วง เป็นต้นรวมกับไม้พื้นบ้านที่ขึ้นได้งอกงามตามธรรมชาติ ก็จะช่วยให้วัดดู ร่มรื่นนอกจากนี้ ต้นไม้ต่าง ๆ ยังจะช่วยกรองเสียง กรองอากาศที่เป็นพิษ ทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบมากขึ้น
๔. วัดควรมีความงามตามธรรมชาติ วัดบางแห่งเน้นการสร้างถาวรวัตถุที่ใหญ่โตโอ่อ่า แต่วัดที่เน้นการปรุงแต่งธรรมชาติที่มีอยู่ให้สวยงามยิ่งขึ้น จะเป็นวัดที่ ประทับใจผู้คนที่พบเห็นได้มากกว่าวัดควรปลูกไม้ดอก ไม้ประดับควบคู่กับไม้ใหญ่ให้ ดูสวยงาม อาจตกแต่งบริเวณเป็นถ้ำ เป็นภูเขา เป็นเนิน หรือเป็นสระน้ำผสมกันไปก็ จะทำให้สวยงามยิ่งขึ้น วัดบางแห่งเสริมแต่งให้เป็นธรรมชาติโดยเอาสัตว์ป่ามาขัง กรงเลี้ยงไว้ ดูเป็นการทรมานสัตว์มากกว่า วัดควรเป็นเขตอภัยทานให้สัตว์ที่ไม่เป็น พิษภัยมาอาศัยอยู่จะดูเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
๕. วัดมีความสะอาด ความสะอาดจะช่วยทำให้วัดดูสงบ ร่มเย็นและ สวยงามมากยิ่งขึ้น วัดควรให้ความสำคัญกับการดูแลกำจัดขยะมูลฝอย ให้มีการเก็บ ทำลายให้เป็นที่เรียบร้อย ไม่ควรให้มีบ่อน้ำขังเน่าเหม็น เป็นที่เพาะพันธุ์เชื้อโรค ต่าง ๆ หรือมีการกองเศษวัสดุก่อสร้างจนดูรกรุงรัง
๖. วัดมีความเป็นระเบียบ น่าเสียดายที่วัดหลายแห่งไม่มีแบบแผนการก่อสร้างไม่มีการจัดผังบริเวรวัดที่ชัดเจน ทำให้สิ่งก่อสร้างที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นขาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ระเกะระกะ รกหูรกตา วัดควรมีแผนผังวัด เพื่อกำหนด พื้นที่ใช้สอยว่าบริเวณไหนจะใช้ประโยชน์อะไร ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งจัด ระเบียบถนนทางเท้าให้เหมาะสมและสวยงามด้วย
๗. วัดมีเสนาสนะเพื่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์และพุทธบริษัท ตามความจำเป็นและตามความเหมาะสม คือ จัดให้มีส่วนที่จำเป็นที่สุดก่อนเป็น ลำดับแรกที่จำเป็นน้อยกว่าควรจัดหาในลำดับหลัง ๆ สิ่งก่อสร้างควรเหมาะกับ จำนวนพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่จะมาวัดไม่ควรสร้างเผื่อไว้มากมาย ซึ่งจะเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองมาก และยังขาดความเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยด้วย
๘. วัดมีและรักษาสิ่งที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน สิ่งที่เป็นศูนย์ รวมจิตใจอาจมี หรือเกิดขึ้นได้หลากหลาย วัดโดยทั่วไปมักมีของเก่าของมีค่าที่หาได้ ยากอยู่ในวัด เช่น พระพุทธรูป เจดีย์ วิหาร ศิลปวัตถุทางพุทธศาสนา ภาพวาด ตู้ พระธรรม หรือแม้แต่ต้นไม้ก้อนหิน ถ้ำตามธรรมชาติ ถ้าดูแลรักษาให้ดีจะมีคุณค่า ยิ่ง ดึงดูดใจให้ผู้คนมาเข้าวัดได้มาก วัดอาจสร้างขึ้นมาใหม่ก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้อง เป็นของใหญ่โตหรูหราราคาแพง
๙. วัดมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานพอเหมาะสมกับสภาพ สิ่งอำนวย ความสะดวกเหล่านี้อาจรวมถึง น้ำ ไฟ แต่ที่สำคัญคือ มีอาคารสถานที่ที่เหมาะกับการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาและเพื่อการพักผ่อนจิตใจของประชาชน เป็นต้นว่ามี ที่นั่งพัก หาความสงบตามมุมต่าง ๆ ตามโคนไม้มีแสงสว่างตามทางเดิน มีถนน ทางเท้าไปสู่จุดหาความสงบร่มรื่น มีที่อ่านหนังสือ ดังนี้เป็นต้น
๑๐. วัดมีพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ข้อแรกที่กล่าวถึงเป็นเรื่อง เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของวัดแต่วัดจะเป็นวัดที่ดีได้ พระสงฆ์ในวัดเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดจริยวัตรของพระสงฆ์จะเป็นที่สนใจของประชาชนที่อยู่รอบ ๆ วัด ประชาชนจะให้ความสนใจเคารพนับถือพระสงฆ์ที่มีจริยวัตรเหมาะสม ปฏิบัติดี ปฏิบัติ ชอบตามพระธรรมวินัย ประชาชนมีความคาดหวังว่าพระสงฆ์จะประพฤติอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย ไม่ทำในสิ่งที่พระสงฆ์ไม่พึงกระทำ จริงอยู่ อาจมีประชาชนบาง ส่วนคาดหวังให้พระสงฆ์ทำบางสิ่งบางอย่าง ที่ไม่ถูกต้องกับพระธรรมวินัยด้วย ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น คาดหวังให้พระสงฆ์บอกเลขใบ้หวย หรือสร้างเครื่องลาง ของขลังแต่ถ้าพระสงฆ์หลงใหล
ในสิ่งเหล่านี้ ก็จะทำให้วัดขาดสภาพความเหมาะสม ที่จะเป็นวัดอย่างแท้จริงได้
๑๑. วัดมีพระสงฆ์ที่มีความรู้ ความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่แท้จริง วัดจะเป็นเช่นนี้ได้ผู้นำของวัดต้องส่งเสริมให้พระในวัดได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน พระธรรมวินัยอย่างกว้างขวาง เช่น มีการศึกษาปริยัติธรรม เปรียญธรรม มีหนังสือ มีห้องสมุด ให้พระในวัดได้ศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง สร้างบรรยากาศในวัดให้ เหมาะสมกับการศึกษาเล่าเรียน เหล่านี้ จะช่วยให้วัดมีพระที่มีความรู้ความสามารถที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนา สั่งสอนอบรมผู้สนใจในธรรมได้อย่างลึกซึ้งแท้จริง
๑๒. วัดมีกิจกรรมเพื่อการศึกษาธรรมะแก่ประชาชนเป็นต้นว่า มีการสอน ธรรมะอย่างง่ายให้แก่เด็กเยาวชน ผู้สนใจใคร่รู้ อาจมีโครงการที่เรียกกันว่า โรงเรียน พุทธศาสนาวันอาทิตย์ มีการเทศนาในวันพระและวันสำคัญเป็นประจำ และมีกิจกรรม อื่น ๆ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น
๑๓. วัดมีกิจกรรมภาคปฏิบัติ เพื่อความสงบทางจิตใจให้กับประชาชนผู้ สนใจสม่ำเสมอเป็นประจำ เช่น มีการฝึกจิต ทำสมาธิ ในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ส่งเสริมการถืออุโบสถของอุบาสกอุบาสิกา
๑๔. วัดเป็นแหล่งบริการ เพื่อเพิ่มพูนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชน เช่น มีห้องสมุดประชาชน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาศึกษาหาความรู้ ทั้ง ห้องสมุดกลางแจ้งและห้องสมุดปกติ มีการจัดวิทยากรมาแนะนำการทำมาหากิน การ ดูแลสุขภาพอนามัยให้กับประชาชน มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้พักผ่อน หย่อนใจและหาความสงบในวัด เป็นต้น
๑๕. วัดควรทำหน้าที่เป็นผู้นำ ชักจูงให้ประชาชนได้ปรึกษาหารือกัน เพื่อ สร้างความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรืองของชุมชน วัดอาจเป็นผู้นำในการชักชวนให้ ประชาชนได้ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นของตนในด้านต่าง ๆ คงต้องมีการวางแผน เพื่อให้วัดที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่และวัดที่มีอยู่ ได้พัฒนาไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ด้วยการปรับองค์ประกอบต่าง ๆ ให้มีคุณสมบัติ
๑๕ ประการ นี้จะเป็นผลสำเร็จได้ช้าหรือเร็วประการใดย่อมขึ้นอยู่กับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญยิ่งคือวัดต้องทำให้วัดเป็นของชุมชน ให้ชุมชนมีความรู้สึกว่าวัดเป็นของเขาที่เขาจะต้องหวงแหนและช่วยกันพัฒนา อย่าให้รู้สึกว่าเป็นของหลวงพ่อหรือเจ้าอาวาส ถ้าทำเช่นนี้ ได้ วัดย่อมมีความหมายต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างแน่นอน ๒๙ เมษายน ๒๕๓๘